TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการดิจิทัลและโครงสร้าง

UNCITRAL Model Law on Automated Contracting (2024) Documents


วัตถุประสงค์ (Purpose)

กฎหมายต้นแบบ UNCITRAL ว่าด้วยการทำสัญญาโดยอัตโนมัติ (MLAC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สามารถใช้ระบบอัตโนมัติในการจัดทำและปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), สมาร์ทคอนแทรกต์ หรือการทำธุรกรรมระหว่างจักร (machine-to-machine transactions) โดยตรง

กฎหมายฉบับนี้ต่อยอดจากกฎหมายต้นแบบว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2539 (1996) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (2005) เพื่อให้ผู้บัญญัติกฎหมายในแต่ละประเทศสามารถนำชุดกฎเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลไปใช้ในการขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำสัญญาโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MLAC วางกรอบการรับรองทางกฎหมายต่อการใช้ระบบอัตโนมัติและ AI ในการก่อให้เกิดและดำเนินการตามสัญญา พร้อมทั้งยืนยันหลักการพื้นฐานของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ UNCITRAL ได้แก่ ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และ การไม่เลือกปฏิบัติต่อวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
 

ความสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Why is it relevant?)

ปัจจุบัน ระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดทำสัญญา ตั้งแต่การจัดหาสินค้าและบริการออนไลน์ ไปจนถึงการดำเนินการของแพลตฟอร์มซื้อขายที่ใช้ระบบอัลกอริธึมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ระบบเหล่านี้สามารถดำเนินการได้โดยแทบไม่ต้องอาศัยการควบคุมจากมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยทางกฎหมายเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ และความเพียงพอของกฎหมายสัญญาในปัจจุบันในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

กฎหมายต้นแบบฉบับนี้จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อวางกรอบทางกฎหมายที่รองรับการใช้ระบบอัตโนมัติในการก่อให้เกิดและปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป็นประมวลกฎหมายที่ครอบคลุมทุกประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญาโดยอัตโนมัติ และไม่ครอบคลุมประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI ในบริบทอื่น ๆ นอกเหนือจากสัญญาโดยตรง อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมหรือการกำกับดูแลการใช้ AI ในภาพรวม


สาระสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Key Provisions)

กฎหมายต้นแบบฉบับนี้ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนและเสริมความชัดเจนให้กับกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับธุรกรรมและการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกฎหมายต้นแบบว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (1996) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (2005)ซึ่งได้กล่าวถึงการทำสัญญาโดยระบบอัตโนมัติไว้บางส่วนแล้ว

MLAC ได้วางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อรับรองการทำสัญญาโดยระบบอัตโนมัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการก่อให้เกิดและการปฏิบัติตามสัญญานอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติใหม่ที่รับรองการใช้ “รหัสคอมพิวเตอร์” (computer code) และ “ข้อมูลแบบไดนามิก” (dynamic data) ที่เป็นกลไกสำคัญของระบบอัตโนมัติ

กฎหมายนี้ยังระบุแนวทางในการกำหนดความรับผิดของ “ผลลัพธ์” ที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ และมีบทบัญญัติเสริมในกรณีที่ระบบให้ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ การเปิดเผยข้อมูล (information disclosure) ในการดำเนินงานของระบบอัตโนมัติ และเน้นย้ำว่าระบบอัตโนมัติไม่สามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อื่น ๆ

 

ที่มา: https://uncitral.un.org/en/mlac